
อ้างอิงจากรายงานวิจัยโดย International Energy Agency (IEA) ปัจจุบันในหลายประเทศ พลังงานแสงอาทิตย์ได้กลายเป็นพลังงานที่ถูกที่สุดไปแล้ว ซึ่งส่วนหนึ่งนั้นเป็นผลพลอยได้จากการส่งเสริมและนโยบายต่างๆของภาครัฐ ที่ส่งเสริมให้คนหันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เช่นในรัฐฟิลาเดลเฟีย ประเทศสหรัฐอเมริกา รัฐบาลได้จัดทำโครงการที่มีชื่อว่า EZ Permit โดยจะสนับสนุนในการจัดหาเงินทุนหรือสินเชื่อให้แก่ครัวเรือนที่มีรายได้น้อยและหรือปานกลาง สำหรับการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีกำลังการผลิตไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ มากไปกว่านั้นยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายและระยะเวลาในการขอใบอนุญาตต่างๆ โดยการให้ผู้สนใจยื่นคำขอผ่านเว็บไซต์ได้
รายงานวิจัยยังได้กล่าวว่า พลังงานแสงอาทิตย์กำลังจะเป็น “เจ้าแห่งไฟฟ้า” และครองตลาดพลังงานในอีกไม่ช้า เนื่องจากราคาต้นทุนของระบบพลังงานแสงอาทิตย์ที่ถูกลงอย่างต่อเนื่อง และยังมีการพัฒนาเทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงการส่งเสริมจากหลายๆประเทศในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือ climate change ยกตัวอย่าง ในสหภาพยุโรป (หรือ EU) ได้มีการจัดทำแผนการที่จะพัฒนาให้แหล่งพลังงานกว่าร้อยละ 32 มาจากพลังงานหมุนเวียนภายในปี 2030
พลังงานแสงอาทิตย์กับราคาที่เทียบไม่ได้ ด้วยราคาที่ถูกลงเรื่อยๆ การพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในหลายๆประเทศจึงมีต้นทุนถูกกว่าการลงทุนและพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ในขณะเดียวกันแนวโน้มต้นทุนต่อหน่วยไฟฟ้า (Levelized Cost of Energy : LCOE) ของพลังงานหมุนเวียน ไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ก็มีต้นทุนต่อหน่วยไฟฟ้าที่ถูกลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยข้อมูลอ้างอิงจาก BloombergNEF ปี 2020 พลังงานแสงอาทิตย์ (แบบ Fixed type) มี LCOE ที่ 50 USD/kWh หรือ 1.55 บาท/kWh ในปี 2020 ซึ่ง ถูกลง 7 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2010

ล่าสุดในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ Abu Dhabi Power Corporation (ADPower) ได้ประกาศว่า พวกเขาได้บรรลุข้อตกลงในการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาดกำลังการติดตั้งรวม 2 GW ที่มีราคารับซื้อที่ถูกที่สุดในโลก ที่ USD 1.35 cents/kWh หรือ 0.42 บาท/kWh ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับ 10 ปีที่แล้ว ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีราคาอยู่ที่ USD 30 cents/kWh หรือ 9.3 บาท/kWh และเพื่อเปรียบเทียบกับราคาถ่านหิน ในปัจจุบันราคาถ่านหินมีราคาระหว่าง USD 5.5-15.0 cents/kWh หรือ 1.75-4.65 บาท/kWh (อ้างอิงจาก BloombergNEF) เราจึงเห็นเทรนด์การผลิตพลังงานทั่วโลกที่มีแนวโน้มที่จะใช้ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติน้อยลงควบคู่กับการใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมเพิ่มมากยิ่งขึ้น

เทรนด์นี้มีความหมายว่าอย่างไรสำหรับพลังงานโซล่าร์? ด้วยต้นทุนที่ถูกลงอย่างต่อเนื่องและการพัฒนาของเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น พลังงานแสงอาทิตย์จึงมีศักยภาพที่จะเติบโตย่างรวดเร็วและเป็น “เจ้าแห่งไฟฟ้า” ในอีกไม่ช้า